s 'กราซ' เมืองหลวงแห่งน้ำหอมของโลก | REVIEW รีวิว เรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับชาวไทย บทความน่าอ่าน สุขภาพ ไอที เรื่องราวน่าสนใจ

'กราซ' เมืองหลวงแห่งน้ำหอมของโลก

สาระน่ารู้ เมื่อกล่าวถึงน้ำหอม ทุกคนก็คงต้องนึกถึงประเทศผู้ผลิตน้ำหอมชื่อดังหลากหลายแบรนด์อย่าง "ฝรั่งเศส" โดยที่มักจะลืมกล่าวถึงชื่อเมืองสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งน้ำหอมของโลก ซึ่งก็คือเมืองกราซ (Grasse) ที่มีการผลิตน้ำหอมกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยตามตำนานเล่าว่า แคทเธอรีน เดอ เมดีชี (Catherine de Medicis) มเหสีในพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เป็นผู้ริเริ่มการทำน้ำหอมในเมืองนี้

แต่เดิมเมืองกราซไม่ได้มีชื่อเสียงจากการปลูกพืชพรรณเพื่อมาทำน้ำหอม แต่มีชื่อเสียงมาจากการฟอกหนัง ซึ่งพระนางแคทเธอรีนทรงโปรดให้ถุงพระหัตถ์หนังนั้นมีกลิ่นหอม จึงได้มีการปลูกดอกไม้นานาพันธุ์ในเมืองกราซ ทั้งกุหลาบ มะลิ ลาเวนเดอร์ และซ่อนกลิ่น เพื่อเตรียมกลั่นออกมาเป็นน้ำหอมนั่นเอง

ปัจจุบัน แบรนด์ดังที่ต้องอาศัยวัตถุดิบชั้นเลิศจากที่นี่มีทั้งชาแนล ดิออร์ และฟราโกนาร์ ซึ่งเทคโนโลยีการสกัดกลิ่นสมัยใหม่นั้นก็จำเป็นต้องอาศัยเคมีและการแต่งกลิ่นร่วมด้วย เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากกลีบดอกไม้จำนวนน้อยให้ได้คุ้มค่าที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนกลับให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่สามารถทดแทนการใช้กุหลาบท้องถิ่นแท้ๆ ได้เลย

หนึ่งในสินค้าระดับโลกที่ขาดกลิ่นหอมจากเมืองกราซไม่ได้เลยก็คือ "ชาแนล นัมเบอร์ 5" น้ำหอมยอดนิยมที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 2464 และยังคงเป็นที่นิยมจนสามารถขายได้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยส่วนผสมหลักนั้น ได้แก่ กุหลาบเซนติโฟเลียและมะลิจากเมืองกราซ ซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่นในโลก

ชาวเมืองกราซคนหนึ่งเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้กราซสามารถผลิตกลิ่นหอมที่มีคุณภาพเช่นนี้ได้ มาจากสภาพภูมิอากาศที่พอเหมาะพอดีสำหรับดอกไม้หลายชนิด ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ ตลอดจนที่ดินในเมืองมีราคาสูงตามไปด้วย และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครไขปริศนาของกุหลาบพันธุ์เซนติโฟเลียได้

แต่เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างกุหลาบโรซา-รูบรา โรซา-มอสกาตา และโรซา-อัลบา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ความพิเศษของเซนติโฟเลียก็ทำให้สารสกัดที่ได้นั้นเป็นกลิ่นเดียวกับเมื่อปี 2423 และยังทรงคุณค่ามาจนทุกวันนี้

ข้อมูลจาก voicetv
Share on Google Plus

ถ้าเห็นว่าบทความเจ๋ง ช่วยแชร์ด้วยนะครับ ^ ^

    Facebook Comment
    Blogger Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น