s ทะเลสาบไนออส (Lake Nyos) ทะเลสาบมรณะ | REVIEW รีวิว เรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับชาวไทย บทความน่าอ่าน สุขภาพ ไอที เรื่องราวน่าสนใจ

ทะเลสาบไนออส (Lake Nyos) ทะเลสาบมรณะ

ทะเลสาบไนออส (Lake Nyos) ทะเลสาบมรณะ หรือ “คิลเลอร์เลค” เป็นทะเลสาบปล่องภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ในเขตนอร์ทเวสต์ รีเจียน (Northwest Region) ของแคเมอรูน แม้จะตั้งอยู่ทางด้านข้างของภูเขาไฟไม่มีพลังในที่ราบภูเขาไฟโอกู แต่ก็อยู่บนแนวภูเขาไฟที่มีพลัง ทั้งยังมีแอ่งแมกมาอยู่ใต้ทะเลสาบจึงมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลรั่วซึมออกมาปะปนในน้ำ และกลายเป็นกรดคาร์บอนิกสะสมอยู่ในน้ำเบื้องล่างซึ่งมีความหนาแน่นและอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณผิวน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปนานนับร้อยๆ ปี ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ใต้น้ำก็ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ใต้น้ำมีแรงดันสูงขึ้นตลอดเวลา ทะเลสาบไนออสจึงเปรียบเสมือนระเบิดเวลาดีๆ นี่เอง

และแล้วในวันที่ 21 สิงหาคม ปี ค.ศ.1986 (พ.ศ. 2529) ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันอันเป็นหนึ่งในมหันตภัยทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่ออยู่ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์ทะเลสาบพลิกกลับหรือ “Limnic eruption” โดยไม่ทราบสาเหตุ (คาดว่าอาจเป็นผลมาจากแลนด์สไลด์ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจาก ภูเขาไฟขนาดเล็กระเบิด ลมพายุ พายุฝน ฯลฯ) ส่งผลให้น้ำใต้ทะเลสาบระเบิดและพุ่งขึ้นไปในอากาศถึง 300 ฟุต (91 เมตร) ตามมาด้วยสึนามิขนาดย่อมๆ การระเบิดของน้ำใต้ทะเลสาบในครั้งนั้นทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1-3 แสนตันถูกปลดปล่อยออกมาสู่บรรยากาศด้วยความเร็ว 60 ไมล์ (96.5 กม.) ต่อชั่วโมง ส่งผลให้ประชาชน 1,746 คน และสัตว์เลี้ยงกว่า 3,500 ตัวที่อยู่ในรัศมี 24 กม. เสียชีวิตเพราะขาดอากาศ (มีผู้รอดชีวิตเพียง 6 คน)

หลังเกิดภัยพิบัติในครั้งนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยชาวฝรั่งเศสได้ทำการตั้งท่อเชื่อม (ไซฟ่อน) เพื่อปั๊มน้ำที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ทางด้านล่างขึ้นมาปล่อยเป็นน้ำพุสูง 21 เมตร ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยและลดปริมาณสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใต้น้ำ (ใช้เครื่องช่วยปั๊มน้ำแค่ครั้งแรก หลังจากนั้นฟองอากาศจะดันน้ำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ให้พุ่งขึ้นมาตามท่อเอง หรือที่บางคนเรียกว่าน้ำพุโซดา) ปัจจุบัน มีท่อดังกล่าวทั้งสิ้น 3 จุดซึ่งเชื่อว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการป้องกันไม่ให้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณที่ปล่อยออกมีจำนวนพอๆ กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รั่วซึมออกมาปะปนในน้ำ

ข้อมูลจาก paow007.wordpress.com
Share on Google Plus

ถ้าเห็นว่าบทความเจ๋ง ช่วยแชร์ด้วยนะครับ ^ ^

    Facebook Comment
    Blogger Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น