s วิธีการรักษาและบำบัด โรคซึมเศร้า | REVIEW รีวิว เรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับชาวไทย บทความน่าอ่าน สุขภาพ ไอที เรื่องราวน่าสนใจ

วิธีการรักษาและบำบัด โรคซึมเศร้า


วิธีการรักษาและบำบัด โรคซึมเศร้า

ในการรักษานั้น ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะได้รับวิธีการรักษาหลายๆแนวทางพร้อมกัน เมื่อบำบัดในแนวทางหนึ่งแล้ว ไม่ดีขึ้น ก็อาจจะหาวิธีบำบัดด้านอื่นที่ โดยดูที่ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และ การตอบสนองต่อการรักษา

ซึ่งวิธีเหล่านั้นก็แตกต่างกันไป เช่น

1. การบำบัดด้วยยา
2. จิตบำบัด
3. รักษาด้วยการใช้ไฟฟ้า (ECT)


1. การบำบัดด้วยยา
การรักษาหลักในปัจจุบันก็คือ การให้ยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressant drugs) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง ยาแก้โรคซึมเศร้าจะไม่ทำให้เกิดการเสพติด และผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้เมื่อหมดความจำเป็น

ทั้งนี้ ยาแก้โรคซึมเศร้าไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงแค่ลดความกังวล แต่จะออกฤทธิ์ทำให้อารมณ์หายซึมเศร้าจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ต้องรับประทานยาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นว่าอารมณ์แจ่มใสขึ้น และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะกลับเป็นคนเดิม และแพทย์จะให้ยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในรายที่เป็นบ่อยแพทย์อาจพิจารณาให้ยานานกว่านั้น

ยาแก้เศร้าอาจแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่มีโครงสร้างเป็นแบบ tricyclic และยากลุ่มใหม่ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมาในช่วงไม่นานมานี้ ข้อดีของยาในกลุ่ม tricyclic คือ เป็นยาที่ใช้ในการรักษามานานจนทราบกันดีถึงอาการข้างเคียงของยาแต่ละตัว ประสิทธิภาพเป็นที่ยืนยันแน่นอน ทั้งในการรักษาระยะเฉียบพลันและการป้องกันระยะยาวและราคาถูก

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการรักษาของยาแก้เศร้าแต่ละตัวนั้นไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่ฤทธิ์ข้างเคียง ซึ่งรวมถึงยาในกลุ่มใหม่ด้วยเช่นกัน ในการเลือกใช้ยาเราพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ตามลำดับ

หากเป็นผู้ป่วยที่เคยป่วยและรักษาหายมาก่อน ประวัติการรักษาเดิมมีความสำคัญ โดยผู้ป่วยมักตอบสนองต่อยาตัวเดิม และขนาดเดิมที่เคยใช้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาขนานเดิมเป็นตัวแรก

2. จิตบำบัด
จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นจิตบำบัดระยะสั้นที่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยการเชื่อมโยงอาการของโรคซึมเศร้ากับปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้าน ซึ่งได้แก่ 1) ความรู้สึกเศร้าเสียใจจากการเสียชีวิตของบุคคลที่สำคัญ 2) ความขัดแย้งกับบุคคลที่สำคัญ 3) การเปลี่ยนผ่านบทบาททางสังคม และ 4) การขาดสัมพันธภาพกับบุคลอื่น และแก้ไขปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในประเด็นที่ผู้ป่วยซึ่งเศร้าเผชิญอยู่ ทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษาโดยเฉลี่ย 16 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง การรักษาแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะสิ้นสุด วิธีการของการรักษาอาศัยเทคนิคในการค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ การสื่อสาร การกระตุ้นให้แสดงอารมณ์ที่เกิดขึ้น การแสดงบทบาทสมมติ การแก้ไขปัญหาและการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ การมอบหมายงานหรือให้การบ้าน และการใช้ความสัมพันธ์ในการรักษา ผู้รักษาจะมีบทบาทในเชิงรุกและคอยให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย เป้าหมายและขบวนการของการรักษาคือการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้น ปรับปรุงและเพิ่มทักษะสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและทักษะทางสังคม รวมทั้งรูปแบบและวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย ลดการแยกตัวจากสังคม และมีแหล่งสนับสนุนประคับประคองทางสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการของโรคซึมเศร้า

3. รักษาด้วยการใช้ไฟฟ้า (ECT)
ในรายที่เป็นมากหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมาก ๆ แพทย์จะให้การรักษาด้วยไฟฟ้า เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก (convulsion) ภาวะซึมเศร้าจะหายได้อย่างรวดเร็ว (ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์) การรักษาด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงมาก แต่เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดจากสื่อต่าง ๆ ทำให้การรักษาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกัน แพทย์จึงจะใช้การรักษาแบบนี้ในรายที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
Share on Google Plus

ถ้าเห็นว่าบทความเจ๋ง ช่วยแชร์ด้วยนะครับ ^ ^

    Facebook Comment
    Blogger Comment

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น